สายตาสั้นมาก เลือกใช้เลนส์อย่างไรดี ?

สายตาสั้นเป็นภาวะความผิดปกติของสายตา เกิดจากการที่แสงผ่านเข้าสู่ตาเราแล้วโฟกัสก่อนถึงจุดรับภาพ เกิดเป็นภาพเบลอและส่งกระแสประสาทภาพที่เห็นไปประมวลผลเป็นภาพที่สมอง ทำให้ภาพที่เห็นไม่ชัดเจน โดยอาการของคนสายตาสั้นนั้น มักมีอาการมองที่ระยะไกลไม่ชัด ทำให้ไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดต่างๆในระยะไกลได้ เช่น มองไม่เห็นว่าใครเป็นใคร มองไม่เห็นข้อความบนป้ายบอกทางระหว่างขับรถ มองไม่เห็นจอโปรเจคเตอร์หรือกระดาน เป็นต้น โดยคนสายตาสั้นมักจะชอบหรี่ตา เพ่งมองวัตถุ หรือเข้าไปใกล้วัตถุเพื่อให้มองภาพได้ชัดขึ้น ส่งผลให้มีอาการตาล้า ไม่สบายตาหรือปวดศีรษะได้

สายตาสั้นมาก เลือกใช้เลนส์อย่างไรดี

สาเหตุของสายตาสั้น

สายตาสั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ

  1. ความผิดปกติที่เกิดจากการหักเหแสง เช่น ความโค้งกระจกตาที่มากกว่าปกติ เลนส์ตาที่มีกำลังหักเหมากกว่าปกติ หรือความยาวลูกตาที่ยาวมากกว่าปกติ (มากกว่า 24 มิลลิเมตร) โดยทั้งหมดนั้น ส่งผลให้แสงโฟกัสก่อนถึงจุดรับภาพ
  2. กรรมพันธุ์ ในคนที่มีสายตาสั้น มักพบว่ามีประวัติพ่อและแม่มีสายตาสั้นด้วยเช่นกัน
  3. พฤติกรรมการใช้สายตาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเล่นโทรศัพท์หรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยไม่หยุดพัก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสายตาสั้นในปัจจุบัน

ระดับของสายตาสั้น

ระดับของสายตาสั้น
(Ref: American Optometric Association)

หากมีสายตาสั้นมาก อาจมีภาวะที่เรียกว่า โรคสายตาสั้นมากร่วมกับมีพยาธิสภาพที่จอตา (Pathologic myopia)  โดยมักจะมีสายตาสั้นมากกว่า -6.00 D ขึ้นไป หรือมีความยาวลูกตามากกว่า 26มิลลิเมตร และอาจมีลูกตาส่วนหลังยื่นออกไปมากกว่าปกติ  (Posterior staphyloma) ทำให้จอตาบาง และอาจฉีกขาดได้ โดยตาจะมัวลงอย่างรวดเร็ว จึงควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์

การแก้ไขสายตาสั้นด้วยเลนส์แว่นตา

สายตาสั้นนั้นสามารถแก้ไขได้โดยการใส่แว่นตาที่เป็นเลนส์เว้า (Negative Meniscus Iens) ที่มีคุณสมบัติช่วยกระจายแสงทำให้แสงนั้นไปตกลงที่ตำแหน่งที่ถูกต้องบนจุดรับภาพ เลนส์ที่ใช้แก้ไขสายตาสั้นนั้นจะมีความหนาที่ขอบเลนส์ โดยความหนาจะเพิ่มมากขึ้นตามค่าสายตาที่มากขึ้น เลนส์ที่หนาขึ้น ก็จะทำให้น้ำหนักของเลนส์เพิ่มมากขึ้นด้วยแต่เราสามารถลดความหนาและน้ำหนักของเลนส์ได้โดยการเพิ่มดัชนีหักเหของเลนส์ (Lens index) ให้สูงขึ้นได้ หรือที่เราเรียกกันว่า “เลนส์ย่อบาง” นั่นเอง

เลนส์แก้ไขสายตาสั้นจะหนาที่ขอบ
เลนส์แก้ไขสายตาสั้นจะหนาที่ขอบ

เลนส์ย่อบาง ( High index lenses )

เลนส์ย่อบาง เป็นเลนส์สายตาที่มีค่าดัชนีหักเหของเลนส์สูงกว่าเลนส์สายตาทั่วไป ดังนั้นเลนส์ที่มีค่าดัชนีหักเหตั้งแต่ 1.60 ขึ้นไปจะเรียกว่า เลนส์ย่อบาง  โดยเลข index ที่มากขึ้น เลนส์จะยิ่งบางลงเมื่อเปรียบเทียบในค่าสายตาเดียวกัน นิยมใช้เพื่อแก้ปัญหาสายตาในคนที่มีสายตาสั้นหรือสายตายาวมากๆ ช่วยให้เลนส์บางลง และน้ำหนักเบา นอกจากนี้เลนส์ย่อบางยังมีความแข็งแรง เนื่องจากเป็นเลนส์ที่มีเนื้อเหนียวกว่าเลนส์สายตาทั่วไป จึงถูกนำมาใช้กับกรอบแว่นตาชนิด กรอบเซาะร่องเอ็น กรอบเซาะร่องเหล็กและกรอบเจาะ เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบเลนส์แก้ไขสายตาสั้น

 -6.00 index 1.50 (AS)  กับ เลนส์ -6.00 index 1.60 (AS) จะทำให้ความหนาของเลนส์ลดลงถึง 14%

-6.00 index 1.60 (AS)  กับ เลนส์ -6.00 index 1.67 (AS) ) จะทำให้ความหนาของเลนส์ลดลงถึง 15%

-6.00 index 1.67 (AS)  กับ เลนส์ -6.00 index 1.74 (AS) จะทำให้ความหนาของเลนส์ลดลงถึง 10%

จึงทำให้เลนส์บางลงและมีน้ำหนักลดลงนั่นเอง

การเลือกโครงสร้างของเลนส์

การเลือกโครงสร้างของเลนส์

หากเรามีค่าสายตาสั้นเล็กน้อย สามารถแก้ได้โดยการใช้ Spherical Iens ซึ่งเป็นเลนส์ที่มีความโค้งเท่ากันในทุกจุด ตั้งแต่บริเวณจุดศูนย์กลางของเลนส์ไปจนถึงขอบเลนส์  โดยข้อดีของ spherical lens คือ ผลิตได้ง่ายและราคาถูก แต่ข้อเสียของเลนส์ชนิดนี้คือ ในผู้ที่มีค่าสายตาสูง ความคมชัดจะลดลงเนื่องจากผู้ใส่จะมองเห็นภาพบิดเบือนบริเวณขอบเลนส์ที่เกิดจากโครงสร้างของเลนส์ (Spherical aberration) นอกจากนี้หากมีสายตาสั้นมากเมื่อผู้อื่นมองผ่านเลนส์จะเห็น ตาของผู้ใส่เล็กกว่าความเป็นจริง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ใส่ได้ด้วยเหตุผลทางด้านความสวยงาม

หากสายตาสั้นมาก เลนส์ขัดแบน 1 ด้าน (Aspherical lens) อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า Spherical lens เนื่องจากโครงสร้างของเลนส์ชนิดนี้ ความโค้งของเลนส์จะขัดไล่ความโค้งจากจุดศูนย์กลางของเลนส์ไปยังขอบเลนส์ ทำให้ผู้ใส่มองเห็นภาพบิดเบือนบริเวณขอบเลนส์ที่น้อยกว่า อีกทั้งยังได้น้ำหนักที่เบากว่า Spherical lens อีกด้วย

แต่หากเรามีคำสายตาสั้นมากๆ (High myopia) โครงสร้างเลนส์แบบ Double aspherical lens หรือที่เรียกว่าเลนส์ขัดแบน 2 ด้าน อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า นอกจากจะลดภาพบิดเบือนที่บริเวณขอบของเลนส์ได้ดีกว่า ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดมากกว่าแล้ว เลนส์ยังบางและมีน้ำหนักเบากว่าเลนส์ขัดแบน 1 ด้าน Aspherical lens และ Spherical Iens

บทความโดย

สกาวเดือน จิตนันท์

นักทัศนมาตร

Leave a Comment